บูรณาการ


ภูมิปัญญา
ภูมิปัญญาในการจับปลา  ชาวบ้านบ่อเจ็ดลูกส่วนใหญ่มีอาชีพประมง โดยชาวประมงมักดูทิศทางลม ระดับน้ำทะเล ซึ่งในแต่ละวันไม่เหมือนกัน น้ำจะเปลี่ยนทิศทางไปทุกๆ 10 นาที การวางอวนแต่ละครั้งชาวประมงจะต้องรู้ลักษณะการเดินของน้ำ ซึ่งทำให้ฝูงของปลาเปลี่ยนไป และต้องรู้แหล่งอาศัยของสัตว์แต่ละชนิด เช่น ปลาเก๋า  ปลาทราย  ปูม้า  หมึก  มักจะอาศัยอยู่ที่ดอนทราย ถ้าเป็นกุ้ง มักจะอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เป็นดิน
การมาดอวน หรือเข้าตาอวน  ในการมาดอวน  การวางตาอวนต้องดูระยะห่าง ช่วงของการจับอวน (เม็ดแตง) ต้องผูกให้ชิดกัน (เซาหรือหย่อน) ปลาจะติดดีปลดง่าย  อวนก็ไม่พันกัน การผูกอวนเพื่อวางปลางแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน
การเก็บหอยตะเภา หอยตะเภาอาศัยอยู่บริเวณหาดกะสิง ตามดินทรายละเอียด ห่างออกจากชายหาดประมาณ 150 - 200 เมตร สามารถหาได้ 2 วิธี คือ ดำน้ำโดยใช้หน้ากาก หรือเดินเก็บบริเวณชายหาดในช่วงฤดูน้ำลด สังเกตได้จากที่บริเวณหน้าดิน จะมีรู 2 รู ติดกันคล้ายรูจมูก ขนาดเท่าก้านไม้ขีด ใช้เหล็กแหลมขุดลึกประมาณ 2 นิ้ว (มีในช่วง ธ.ค. - ก.พ.)
ลากอวนปลากระบอก ในช่วงเวลาน้ำขึ้น นำอวนลงไปดักปลาบริเวณชายหาด สามารถหาได้ทุกฤดูกาล
การเย็บจาก  เป็นการนำใบจากมาเย็บให้เป็นตับเพื่อใช้มุงหลังคาบ้าน ความยาวของตับ 1.5 เมตร ใช้ใบจากจำนวน 100 ใบ พับครึ่งให้ติดกับไม้ไผ่ แล้วใช้หวายความยาวประมาณ 3 ศอก เย็บให้จากติดกัน
การเกษตร  ช่วงหลังฤดูมรสุม (พ.ย. - ม.ค.) ชาวบ้านส่วนใหญ่หันมาทำการเกษตร เช่น ปลูกแตงโม บวบ แตงกวา ซึ่งเป็นอาชีพที่สืบทอดกันมายาวนาน จนเป็นเลื่องลือว่าถ้าจะกินแตงโมรสหวาน กรอบ ต้องมากินที่บ่อเจ็ดลูก

 ตำนานบ่อเจ็ดลูก
บ่อเจ็ดลูก ชื่อนี้ชวนสงสัย....ถามต่อว่า....ทำไมต้องชื่อนี้....มีความเป็นมาอย่างไร เกิดจินตนาการต่างๆ นานา........อดีตอันยาวนานยังมีชาวเลตีนแดงเผ่ามอแกนซึ่งอาศัยไม่ค่อยเป็นหลักแหล่งได้เดินทางมา ณ ที่เกาะหนึ่งซึ่งเป็นเกาะเล็กๆอยู่ทางตอนใต้ของทะเลอันดามัน และได้เดินหาน้ำดื่ม จนเกิดเป็นตำนานเจ็ดบ่อขึ้นมา แต่จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่านั้นบอกว่ามีสามตำนานด้วยกันที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเรื่องไหนคือเรื่องที่ถูกต้องที่สุด
และเรื่องใดไม่เป็นความจริง ชาวเลเมื่อเดินหาน้ำดื่มจนมาพบบ่อน้ำผุดมาจากใต้ดินจำนวน 7 บ่อด้วยกัน
บ่อแรกใหญ่หน่อยเรียกกันว่าบ่อพ่อ ที่เหลือก็เป็นบ่อแม่และบ่อลูก ขนาดลดหลั่นกันไป เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
ขอหรือกล่าวอะไรไว้ก็ได้ดังใจ มีการร้องรำทำเพลงบ้าง นำไก่ขาวมาเชือดบ้างเพื่อแก้บน
อีกนัยหนึ่งก็ว่าเมื่อชาวเลต้องการน้ำก็ได้ทำการขุดบ่อน้ำขึ้นมา 1 บ่อ ใช้มาตลอดจนกระทั่งมีลูกจำนวน 6 คน จำนวนคนในครอบครัวเพิ่มขึ้นจึงใช้กันไม่พอเกิดมีปากเสียงกัน พ่อก็เรียกลูกมาปรึกษาหารือจนมีข้อสรุปว่าให้แต่ละคน
ขุดบ่อมาคนละบ่อ ขุดใกล้ๆกับพ่อนี่แหละ จาก 1 บ่อ ก็เป็น 7 บ่อ ยังมีอีกตำนานที่บอกว่าชาวเลเมื่อได้รอนแรมมาพัก
ที่เกาะแห่งนี้ ก็ได้ตั้งรกรากที่นี่ และได้ขุดบ่อน้ำเพื่อใช้กัน บ่อแรกที่ขุดพบว่าน้ำเค็มใช้ไม่ได้ก็ขุดต่ออีกก็เค็มอีก
จนขุดมาจนถึงบ่อที่ 7 ปรากฏว่า น้ำจืด จึงได้ใช้กันเรื่อยมา ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองมีชายคนหนึ่งเดิมเป็นคนในพื้นที่บ้านตะโละใสชื่อว่านายอับดุลรอหมาน  ปากบารา มีอาชีพทำการค้ากับรัฐปีนังสินค้าก็จะมี แป้ง สบู่ น้ำตาล ได้เข้ามาอาศัยที่แห่งนี้ ด้วยเป็นคนที่มีความรู้ด้านศาสนาอิสลาม
ก็เป็นผู้บุกเบิกสร้างมัสยิด ขึ้นมาและได้สอนให้กับชาวเลที่อาศัยอยู่ก่อนด้วย และดูแลความสงบของที่นี่ อยู่มาระยะหนึ่ง
ก็ได้ชักชวนเครือญาติมาอยู่ด้วยคนก็เพิ่มขึ้นทำให้ชาวเลต้องอพยพจากเกาะแห่งนี้หาที่อยู่อาศัยใหม่เพราะพวกเขา
ไม่ชอบที่มีคนเยอะๆ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 นายอับดุลรอหมาน ได้รับการแต่งตั้งเป็นขุน(เทียบกับปัจจุบันคือกำนัน)
และได้รับพระราชทานนามสกุล เป็น ขุนบารา บุรีรักษ์ ท่านได้ขึ้นปกครองที่นี่ และได้เรียกสถานที่แห่งนี้ตามสัญลักษณ์
ว่าตาลากาตูโหย๊ะ ซึ่งเป็นภาษามาลายู (ตาลากา แปลว่า บ่อ / ตูโหย๊ะ แปลว่า 7 แปลรวมกันว่า บ่อเจ็ดลูก) ไปขึ้นกับทางราชการเพื่อเป็นชื่อเรียกหมู่บ้าน แต่ชื่อเรียกยากจึงเปลี่ยนเป็นชื่อภาษาไทยว่า บ้านบ่อเจ็ดลูก มาจนถึงปัจจุบัน
ขุนบารา บุรีรักษ์มีลูกสาวทั้งหมด 4 คน ไม่มีทายาทผู้สืบสกุล ทำให้นามสกุลบุรีรักษ์ขาดหายไป ปัจจุบันยังมีลูกสาวอีกคนที่ยังมีชีวิตอยู่และอาศัยในบ้านบ่อเจ็ดลูก คือคนที่ 4 มีชื่อว่านางไซหนุน ถิ่นกาแบง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น